IslamicFinder photo gallery banner

Selamat Hari Raya Idil Adha 1428 h..

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การให้อภัย..


คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของอัลลอฮฺก็คือพระองค์เป็นผู้ทรงให้อภัย ดังนั้น ในตอนที่พระองค์ทรงสร้างอาดัมมนุษย์คนแรก พระองค์จึงได้ประทานคุณสมบัติแห่งการให้อภัยส่วนหนึ่งมาเป็นธรรมชาติของอาดัม ด้วยเหตุนี้ มนุษยชาติผู้เป็นลูกหลานของอาดัมและเฮาวา(อีฟ)จึงมีธรรมชาติแห่งการให้อภัยติดตัวมา แต่เนื่องจากมนุษย์ไม่รู้เรื่องนี้เพราะถูกโมหะจริตบดบัง บรรดาศาสดาจึงถูกส่งมาบอกมนุษย์ให้รู้ว่าในตัวของเขามีคุณสมบัติแห่งการให้อภัยอยู่และเขาควรจะเอาคุณสมบัติแห่งการให้อภัยนี้มาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
ดังนั้น หากใครมายั่วให้เราโกรธหรือทำให้เราโมโห ก็ให้ถือว่านั่นคือโอกาสที่เราจะได้ใช้คุณสมบัติแห่งการให้อภัย

ลองคิดดูสิครับ ถ้าหากเรามีเงินอยู่ในกระเป๋า แต่ไม่มีสินค้าให้เราซื้อ เงินที่เรามีอยู่จะมีประโยชน์อะไรหากไม่ได้นำออกมาใช้
การให้อภัยคนที่ทำให้เราโกรธหรือคนที่ทำผิดจึงไม่ได้ทำให้เราเสียอะไรเลย มีแต่จะทำให้เราเกิดความสุขเหมือนกับคนที่มีเงินและได้ใช้เงินจับจ่ายซื้อของ
การให้อภัยจึงเป็นลักษณะทางศีลธรรมประการหนึ่งซึ่งทุกศาสดาถูกสั่งให้นำมาปฏิบัติและสอนผู้คน
?เจ้า(มุฮัมมัด)จงยึดถือไว้ซึ่งการให้อภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด? (กุรอาน 7:199)
การให้อภัยนอกจากจะเป็นผลดีต่อจิตใจแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายด้วย ความจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัย
จากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์อเมริกันได้พบว่าคนที่สามารถให้อภัยนั้นจะมีสุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดร.เฟดเดอริค ลัสคิน ผู้ได้รับปริญญาเอกทางด้านจิตวิทยาสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและคณะของเขาได้ศึกษาคนจำนวน 259 คนที่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก โดยเชิญผู้เข้ารับการทดลองมาเข้าห้องศึกษาวิจัยนานหนึ่งชั่วโมงครึ่งเป็นจำนวน 6 ครั้งเพื่อฝึกผู้เข้ารับการทดลองในเรื่องการให้อภัยระหว่างการสนทนา
ผู้ที่เข้ารับการทดลองได้กล่าวว่าพวกเขาเป็นทุกข์น้อยลงหลังจากที่ให้อภัยคนที่ล่วงเกินพวกเขา การศึกษาวิจัยแสดงว่าคนที่ให้อภัยจะมีความรู้สึกที่ดีกว่า ไม่เพียงแค่ทางด้านอารมณ์เท่านั้น แต่ในทางร่างกายด้วย ตัวอย่างเช่น หลังจากการทดสอบแล้วได้มีการพบว่า อาการทางด้านจิตใจและร่างกายต่างๆ เช่น อาการปวดหลังอันเนื่องมาจากความเครียด อาการนอนไม่หลับและปวดท้องได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในตัวบุคคลเหล่านี้
ในหนังสือเรื่อง Forgive for Good (ให้อภัยเพื่อผลดี) ดร.เฟรดริค ลัสคิน ได้อธิบายถึงการให้อภัยว่าเป็นวิธีการบำบัดรักษาอย่างหนึ่งและเป็นความสุขซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้ว หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่าการให้อภัยจะช่วยเสริมสร้างภาวะจิตใจที่ดี เช่น มีความหวัง มีความอดทนและมีความเชื่อมั่นในตนเองได้โดยการลดความโกรธ ความทุกข์ทรมาน ความกดดันและความเครียด ดร.ลัสคิน กล่าวว่าการเก็บความโกรธไว้เป็นสาเหตุให้มีผลทางร่างกายที่สามารถสังเกตได้ในตัวบุคคล เขากล่าวต่อไปว่า ?การเก็บความโกรธไว้นานๆหรือไม่ยอมคลายความโกรธนั้นจะเป็นตัวตั้งเธอร์โมสตัทภายในร่างกายของคุณ เมื่อคุณโกรธง่ายตลอดเวลา คุณก็จะไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นปกติ ความโกรธจะทำให้สารประเภทอาดริเนลีนหลั่งออกมาเผาผลาญร่างกายและทำให้ความคิดไม่รอบคอบซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง?
นอกจากนี้แล้ว ดร.ลัสคิน ยังกล่าวว่าเมื่อร่างกายปล่อยเอนไซม์บางอย่างออกมาระหว่างที่โกรธและเครียด คลอเรสเตอรัลและระดับความดันของเลือดจะสูงขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกายในระยะยาว ความสมดุลทางอารมณ์
ในนิตยสาร Healing Currents มีบทความเรื่องหนึ่งชื่อ ?การให้อภัย? ถูกตีพิมพ์ในฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ค.ศ.1996 กล่าวว่าการโกรธใครคนหนึ่งหรือเรื่องหนึ่งจะทำให้เกิดผลเสียทางอารมณ์ขึ้นในตัวบุคคลและทำลายความสมดุลทางอารมณ์ของพวกเขาและแม้แต่สุขภาพทางด้านร่างกายของพวกเขาด้วยเช่นกัน บทความชิ้นนั้นยังกล่าวด้วยว่าคนที่โกรธมารู้ตัวทีหลังว่าความโกรธเป็นสิ่งที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่เขาและเขาอยากจะทำให้มันดีขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มให้อภัย นอกจากนี้แล้ว บทความชิ้นนั้นยังได้กล่าวว่าถึงแม้พวกเขาจะอดทน แต่ผู้คนก็ไม่ต้องการเสียเวลาอันมีค่าของชีวิตไปในความโกรธและความหวาดกังวล และชอบที่จะให้อภัยตัวเองและคนอื่น
ในงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาคนจำนวน 1,500 คนพบว่าความเครียดและอาการโรคจิตมีน้อยมากในผู้ที่มีศาสนา ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ผู้ทำการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อ้างถึงเรื่องการที่ศาสนาส่งเสริมการให้อภัยและได้กล่าวว่า ?การให้อภัยมีปรัชญาของมันอยู่.....เมื่อคุณให้อภัย มันก็จะทำให้คุณผ่อนคลาย?
ในบทความที่มีชื่อว่า Anger is Hostile to Your Heart (ความโกรธเป็นศัตรูต่อหัวใจของคุณ) ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Harvard Gazette กล่าวว่าความโกรธเป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อหัวใจของคุณ นาย อินชิโร คาวาชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านการแพทย์และคณะทำงานของเขาได้สาธิตเรื่องนี้ด้วยการทดสอบต่างๆมากมายทางด้านวิทยาศาสตร์ จากผลของการศึกษา พวกเขาพบความจริงว่าคนแก่ที่ชอบหัวเสียอยู่บ่อยๆนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่อารมณ์สงบถึงสามเท่า นายคาวาชิกล่าวว่า ?ความเสี่ยงถึงสามเท่านี้เกี่ยวข้องกับระดับความโกรธที่สูงจนระเบิดออกมาในรูปของการทำลายสิ่งของและต้องการที่จะทำร้ายบางคนในการต่อสู้?
ผู้ศึกษาวิจัยเชื่อว่าการปล่อยฮอร์โมนความเครียด ความต้องการอ็อกซิเจนที่เพิ่มขึ้นโดยเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจและความเหนียวของเกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นจนเป็นก้อนคือสิ่งที่อธิบายว่าความโกรธเพิ่มโอกาสทำให้หัวใจวายได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ในตอนที่โกรธ ชีพจรจะเต้นเร็วกว่าปกติและทำให้เกิดความดันเลือดในเส้นเลือดสูงขึ้นซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายมากขึ้น ความป่วยไข้ทางร่างกายที่มีสาเหตุมาจากโรคทางจิต
นักศึกษาวิจัยหลายคนกล่าวว่าความโกรธและความเป็นศัตรูสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนที่ทำให้เลือดร้อนผ่าว วารสาร Psychosomatic Medicine ได้กล่าวว่าอารมณ์ฉุนเฉียวจะกระตุ้นให้มีการผลิตโปรตีนที่ร้อนผ่าวซึ่งจะมีผลทำให้เส้นเลือดแข็ง เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและเป็นลม ศาสตราจารย์ เอ็ดวาร์ด ซูอาเรส แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุคในนอร์ธ แคโรไลนา ได้กล่าวว่าคนที่โกรธและเครียดจะมีโปรตีนอินเตอร์ลูคิน 6 (หรือ IL-6) สูง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างไขมันสะสมในผนังเส้นเลือด ดร.ซูอาเรส กล่าวว่า นอกจากปัจจัยต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ความอ้วนและคอเลสเตอรอลสูงจะเป็นที่มาของโรคหัวใจแล้ว สภาพทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความโกรธและความเป็นศัตรูก็ยังเป็นสาเหตุได้เช่นกัน
ในอีกบทความหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Anger Raise Risk of Heart Attack (ความโกรธทำให้เกิดความเสี่ยงต่อหัวใจวาย) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Times กล่าวว่าการมีอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธง่ายอาจทำให้หัวใจวายได้และคนหนุ่มที่ตอบสนองความเครียดโดยความโกรธมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจก่อนเวลาอันควรถึงสามเท่าและมีโอกาสที่จะหัวใจวายก่อนวัยอันควรถึงห้าเท่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ได้พบว่าคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายมีความเสี่ยงต่อการหัวใจวายถึงแม้จะไม่มีประวัติครอบครัวว่าเป็นโรคหัวใจก็ตาม
จากการค้นคว้าที่มีอยู่ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าความโกรธเป็นสภาพของจิตใจที่ทำร้ายสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง ในทางตรงกันข้าม การให้อภัยถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่คนจะปฏิบัติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นศีลธรรมอันประเสริฐที่ทำลายผลเสียจากความโกรธและทำให้บุคคลมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แน่นอน การให้อภัยเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมที่จะทำให้คนอยู่อย่างมีความสุขและเป็นคุณธรรมอันดีที่ทุกคนควรจะนำมาปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของการให้อภัยเหนืออื่นใดนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความพึงพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะของศีลธรรมที่ถูกประทานมาในคัมภีร์กุรอานและผลดีที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นนี้เป็นแค่เพียงหนึ่งในแหล่งของความลี้ลับของความรู้ที่มีอยู่ในคัมภีร์กุรอานเท่านั้น
บทความโดยอาจารย์บรรจง บินกาซัน โครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ศอดาเกาะฮฺสิ่งที่ตนรัก

โต๊ะครูคนหนึ่งเป็นผู้มีความเก่งกาจรอบรุ้ในเรื่องการบรรยายธรรม วันหนึ่งโต๊ะครูกำลังสอนชาวบ้านในเรื่องของการทำศอดาเกาะฮฺ

โต๊ะครู : จำไว้นะพวกเราหากจะทำศอดาเกาะฮฺแล้วให้เลือกทำในสิ่งที่ดีที่สุด

เป็นของที่เรารักที่สุดจะได้บุญได้กุศลแรงทีเดียว

ชาวบ้านสงบฟังอย่างซาบซึ้งตรึงใจ ส่วนภรรยาโต๊ะครูก็นั่งฟังอยู่หลังม่าน

วันหนึ่งโต๊ะครูออกไปทำธุระนอกบ้าน เผอิยมีมีคนยากจนคนหนึ่งมาขอทานศอดาเกาะฮฺที่บ้านโต๊ะครู ภรรยาโต๊ะครูจึงมอบนกเขาใหญ่ที่โต๊ะครูรักและหวงแหนที่สุดให้ไปกรงหนึ่ง

เมื่อโต๊ะครูกลับมาถึงบ้านพร้อมกับอาหารนก

โต๊ะครู : แม๊ะ...! ไหนนกของบังล่ะ??

ภรรยา : เดะทำศอดาเกาะฮฺให้เขาไปแล้วจ๊ะ..

โต๊ะครู : ลา..........อิลาฮะอิลลัลลอออฮฺ.....นกดีๆอย่างนั้นให้เขาไปทำไม?

โต๊ะครูอารมณ์เสียทันตาเห็น

ภรรยา : ก็บังบอกว่าหากจะศอดาเกาะฮฺให้ทำสิ่งที่ดีที่สุดรักที่สุดไงล่ะ ก็บังรักนกตัวนั้นมาก

ไม่ใช่เรอะ!!!

โต๊ะครู : อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ อีแม๊ะเอ้ย ที่กูบอกน่ะ เผื่อเขาจะศอดาเกาะฮฺให้กู....!

ภรรยา : .......................!!!!!!!!!!!!??????????

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550